ปัจจุบัน “ศิลปวัฒนธรรม” กำลังเปลี่ยนแปลง ไปอย่างรวดเร็ว รูปแบบวัฒนธรรมเก่าๆ กำลังเลือนหายไปและถูกทดแทนด้วยรูปแบบใหม่ๆ จากคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่สนใจและต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมเก่าไว้ เพื่อสืบทอดให้คนรุ่นหลัง ได้เรียนรู้และศึกษา ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผู้ที่มี นโยบายการทำงานด้านศิลปะและวัฒนธรรม ที่ว่า “ต้องอนุรักษ์ให้ถึงแก่นและเกิดความยั่งยืน ส่งเสริม Soft Power นำไปสู่การสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่า และจับต้องได้”

“ผศ.เรขา อินทรกำแหง” พื้นเพเป็นคนโคราชตั้งแต่กำเนิด เกิดที่ตำบลหนองไผ่ล้อม อำเภอเมือง จากนั้นถูกส่งไปเรียนนาฏศิลป์ชั้นต้น ที่ “วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด” ย้ายมาเรียนนาฏศิลป์ ชั้นกลางที่ “วิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา” โดยพักอยู่ที่หอพักประจำของวิทยาลัย ด้วยความเป็นเด็กกิจกรรมก็ไม่เคยไปกลับบ้าน ปีหนึ่งได้กลับครั้งเดียว ปิดเทอมต้องอบรมหรือไปทำการแสดง ขณะที่เรียนปีแรก ด้วยพื้นฐานที่มีด้านนาฏศิลป์ จึงมีโอกาสได้ไปรำถวายสมเด็จพระเทพฯ ชีวิตในรั้ว วิทยาลัยนาฏศิลป์แทบจะไม่เคยไปเที่ยว เที่ยว ครั้งแรกคือมาดูหนังที่ “คลังพลาซ่า” เท่านั้นเอง
เมื่อจบ “วิทยาลัยนาฏศิลป์นครราชสีมา” ผศ.เรขาฯ ได้เข้าศึกษาต่อที่ “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา” ซึ่งช่วงนั้นเทรนด์การเรียนเริ่มเปลี่ยน จึงเข้าเรียนสาขานิเทศศาสตร์ เมื่อเรียนจบก็เข้าทำงานที่ราชภัฏฯ ทันที เพราะว่า เมื่อช่วง ๒๐ ปีที่แล้ว สาขานาฏศิลป์ คือ สาขาขาดแคลน ประกอบราชภัฏโคราชเปิดรับสมัครอาจารย์พอดี เมื่อได้เข้ามาเป็นอาจารย์ก็ศึกษาปริญญาโทต่อ ทันทีในสาขาด้านการสอน จากนั้นก็ทำงานวิจัยเรื่อยมา

บทบาทการทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม ของ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” มักเป็นงานวิจัยที่สัมพันธ์กับการเรียน เพราะเรียนด้านศิลปะมาโดยตรง และเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม อะไรที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมหรือการลงพื้นที่จึงทำหมด ไปทุกที่ และเมื่อได้มาเป็นอาจารย์ประจำสาขานาฏศิลป์ ก็ได้เรียนรู้หลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นงานวิชาการ งานวิจัย งานบริการวิชาการชุมชนเพื่อท้องถิ่น เช่น ผลงานวิจัยสร้างสรรค์เกี่ยวกับเพลงโคราช โดยทำงานร่วมกับสมาคมเพลงโคราช และเมื่อเร็วๆ นี้ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” ได้นำผลงานไปแสดงที่กระทรวงวัฒนธรรม ถือเป็นนวัตกรรมชิ้นใหม่ เป็นคุณค่า ที่หาไม่ได้ เพราะไม่เคยมีใครทำขึ้นมาผลงานนี้ไม่ใช่นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี แต่เป็นนวัตกรรมด้านภูมิปัญญา เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมในทุก แง่มุม โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า “การแสดงเพลงโคราช : การปรับตัวตามพลวัตของสังคมในยุคดิจิทัล”
งานวิจัยดังกล่าว มีที่มาจาก “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” เคยไปนั่งฟังเพลงโคราชบริเวณลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วถามหมอเพลงว่า ท่าที่รำกันอยู่ คือ ท่าอะไร ส่วนใหญ่ไม่รู้ เมื่อถามว่า แต่งกลอนได้หรือไม่ ทุกคนอธิบายไม่ได้ว่า แต่งอย่างไร แต่ร้องได้จำได้ เพราะเพลงโคราช สมัยก่อนมีการค้าขายกัน จึงเกิดการจุดประกายค้นคว้าเรื่อยมาตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี สาเหตุที่ใช้เวลาวิจัยนานเพราะว่า หมอเพลงแต่ละท่านมีข้อมูลไม่ตรงกัน บางท่ารำคนหนึ่งบอกชื่อหนึ่ง อีกคน บอกชื่อหนึ่ง จึงต้องค้นหาคำตอบและตกผลึกทางความคิด สรุปแล้วบางท่ารำคือท่าเดียวกัน แต่ หมอเพลงเรียกไม่เหมือนกัน

ปัจจุบันหมอเพลงโคราชที่เข้าใจภูมิปัญญาหรือเข้าใจฉันทลักษณ์จริงๆ เหลือเพียง ๔-๕ คน หากอนาคตสิ้นคนเหล่านี้ การแต่งเพลงโคราชที่ตรงตามฉันทลักษณ์ จะหายไปทันทีถ้าไม่มีการอนุรักษ์ไว้ ดังนั้น “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” จึงต้องทำงานวิจัยให้ถึงแก่น นำเพลงโคราชมาวิเคราะห์เรื่องของการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันเกิดอะไรขึ้นบ้าง เป็นงานวิจัยที่จะอนุรักษ์เพลงโคราชไว้ให้คงอยู่ มีการอธิบายฉันทลักษณ์ที่ชัดเจน คนรุ่นหลังสามารถนำไปเรียนรู้ได้
“ผศ.เรขา อินทรกำแหง” เป็นคนที่ซึมซับงานวัฒนธรรมมาตั้งแต่เด็ก จึงมองเห็นแง่มุมต่างๆ ชอบลงพื้นที่ เคยร่วมงานกับหน่วยงานที่หลากหลาย ได้พบเจอผู้คนมากมาย และเข้าใจบริบทงานด้าน วัฒนธรรมเป็นอย่างดี โดยเฉพาะวัฒนธรรมท้องถิ่น และที่น่าภูมิใจที่สุด คือ “เป็นคนโคราชตั้งแต่กำเนิน” ขนาดไปนำเสนองานวิจัยยังนำเสนอเป็นภาษาโคราช ทุกคนหันมามองว่า “เวทีวิชาการแบบนี้ทำไมคนนี้ ถึงพูดภาษาถิ่น” แต่ก็ไม่อาย ก็ยังพูดและเล่าให้ทุกคนฟังอย่างสบายๆ “เราเป็นคนโคราช เราไม่อาย”

ผลงานที่ผ่านมาของ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” ในเวทีด้านวัฒนธรรมอาจจะไม่เยอะ แต่ความภูมิใจ มีมากมาย เช่น “การประกวดแข่งขันต่อต้านทุจริต” สาขานาฏศิลป์ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ และเป็นคน ที่มักจะอยู่เบื้องหลังในความสำเร็จหลายๆ เวที เช่น งานศิลปวัฒนธรรมโคราช มีประสบการณ์ทำงานทั้ง ในประเทศและต่างประเทศ เพราะทุกปีจะพานักศึกษาไปแสดงศิลปวัฒนธรรมที่ต่างประเทศ ต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๐ ปี ทำให้ได้เครือข่ายเพิ่มขึ้น “ความภาคภูมิใจในการทำงาน มันเหนือกว่าการได้รับรางวัล”
มุมมองด้านการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของศิลปวัฒนธรรม “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” อธิบายไว้ว่า “วัฒนธรรม คือ พลวัตร” ที่จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามเวลา ดังนั้นวัฒนธรรมจึงมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งศิลปวัฒนธรรมอยู่รอบตัวเราทุกคน ทั้งความเชื่อ อาหาร เครื่องแต่งกาย หากเราเข้าใจแบบนี้ก็ต้องตามให้ทัน เพราะวัฒนธรรมเปลี่ยนตลอดเวลา “ตามให้ทันความเปลี่ยน แล้วหันมามองการอนุรักษ์ และหยิบมาใช้ให้เกิดคุณค่า หากหยิบมาใช้แต่ไม่เกิดคุณค่า สักวันหนึ่ง วัฒนธรรมจะสูญหายไป”

ปัจจุบันวัฒนธรรมมีการพัฒนาต่อยอดเป็นงานสร้างสรรค์เสมอ แต่สิ่งที่ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” ต้องการให้มีขึ้นในอนาคต คือ “การอนุรักษ์ ฟื้นฟูสิ่งที่ หายไป เพื่อต่อยอดให้คงอยู่” แม้การพัฒนาเป็นงานสร้างสรรค์จะมีอยู่ แต่ก็ควรทำต่อไป โดยเสริมเรื่องการอนุรักษ์เข้าไปด้วย “สิ่งที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน คือ ความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และงานสร้างสรรค์ โดยอยู่บนพื้นฐานที่จับต้องได้” หลายหน่วยงาน มักลงพื้นที่ส่งเสริมงานด้านวัฒนธรรม แต่ลืมคำนึงถึงบริบทพื้นที่หรือหัวใจหลักว่า พื้นที่ต้องการอะไร หลายองค์กรมักทำกิจกรรมเพื่อให้สำเร็จตามวัตถุประสงค์ของตัวเอง แต่ลืมนึกถึงชาวบ้านว่า เขาต้องการอะไรหากทำด้วยความเข้าใจ จะทำให้งานวัฒนธรรมมีความยั่งยืน

“ในอนาคตงานด้านวัฒนธรรมจะต้องขับเคลื่อนด้วยความเป็น Soft Power โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและอนุรักษ์ให้เกิดความยั่งยืน” โดยทั้ง ๒ มิติ “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” จะเน้นพัฒนาวัฒนธรรมท้องถิ่นโคราช คือ เพลง ภาษา อาหาร และชาติพันธุ์ ซึ่ง ๔ อย่างนี้จะเกิดขึ้นในมิติของการทำงานด้านวิชาการและการอนุรักษ์ก็ควบคู่กันไปอย่างสมดุล ภายใต้ของการเป็นสถาบันการศึกษา และอาจารย์ผู้สอน
สำหรับการอนุรักษ์และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว “ผศ.เรขา อินทรกำแหง” ฝากถึงเยาวชนยุคใหม่ ว่า “ให้เรียนรู้และเข้าใจถึงบริบทของศิลปวัฒนธรรม และอย่าหลงลืมตัวตนของตัวเอง แม้วัฒนธรรมจะหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างไร หากเราไม่หลงลืมตัวตนก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงตามกระแสได้อย่างสมบูรณ์”