ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา

Close

ข้อมูลของแหล่งศิลปกรรม

ภาพประกอบ

ลำดับที่
รายละเอียดภาพ : ปราสาทประธานและอาคารบริวาร กู่บ้านปราสาท ตำบลโนนสูง อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ชื่อแหล่ง

กู่บ้านปราสาท (คูบ้านปราสาท)

ประเภทแหล่งเรียนรู้

แหล่งศิลปกรรม


ชื่อหมู่บ้าน โนนพัฒนา ตำบล เมืองปราสาทอำเภอ โนนสูง จังหวัด นครราชสีมา
สำรวจเมื่อครั้ง พ.ศ. ๒๕๓๓ ชื่อตำบลจันอัด เปลี่ยนเป็น ตำบลเมืองปราสาท

โบราณสถานกู่บ้านปราสาทตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ ๑๑ บ้านโนนพัฒนา ตำบลเมืองปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นปราสาทในศิลปะเขมรที่มีการขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ บูรณะตัวปราสาทเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๑โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๒ นครราชสีมา กรมศิลปากร สภาพโดยทั่วไปไม่สมบูรณ์ส่วนใหญ่เหลือแต่เพียงฐานอาคาร เป็นปราสาทที่ก่อด้วยศิลาแลงและศิลาทรายประกอบด้วยปราสาทประธานสามหลังบนฐานไพทีเดียวกันวางตัวในแนวเหนือ- ใต้ ปราสาทฝั่งทิศใต้พบทับหลังที่แกะสลักไม่เสร็จบนขอบประตู บรรณาลัย๑ หลัง อาคารแผนผังรูปกากบาท๑ หลังอาคารอิฐ ๑ หลังชาลาดำเนินเชื่อมระหว่างโคปุระและปราสาทประธาน ๑ แห่ง โคปุระ๑ แห่ง กำแพงแก้วล้อมรอบตัวปราสาท บริเวณภายนอกกำแพงแก้วทางด้านทิศตะวันออกมีกองอิฐชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เหลือจากการบูรณะ ส่วนด้านทิศใต้พบบารายแท่นประดิษฐานรูปเคารพ ทับหลังที่สลักยังไม่แล้วเสร็จ และเศษหินชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่เหลือจากการบูรณะ ปัจจุบันโบราณสถานกู่บ้านปราสาท เป็นสถานที่สำคัญของหมู่บ้านโนนพัฒนาในเรื่องของความเชื่อ เนื่องจากทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือภายนอกโคปุระมีการจัดตั้งศาลตาปู่ ซึ่งคนในหมู่บ้านจะจัดงานเลี้ยงศาลตาปู่บริเวณกู่บ้านปราสาทในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี และกู่บ้านปราสาทยังเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับรูปแบบศิลปะ สถาปัตยกรรมที่สำคัญนอกจากนี้ยังถือว่ากู่บ้านปราสาทเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา
กู่บ้านปราสาท เป็นโบราณสถานที่เป็นศาสนสถาน ตามแบบจำลองของคติจักรวาล มีการสร้างครั้งแรกตามศิลปะเขมรแบบเกาะแกร์-แปรรูป ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ซึ่งปรากฏหลักฐาน คือ ทับหลังที่ยังแกะไม่เสร็จที่คล้ายกันกับปราสาทเมืองแขก ต่อมาในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ได้มีการเข้ามาของศิลปะเขมรแบบนครวัด ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ มีการเปลี่ยนเพื่อเป็นศาสนสถานในคติศาสนาฮินดู หลักฐานที่พบ คือ เทวรูปพระวิษณุ ประติมากรรมรูปเทวบุรุษ ประติมากรรมรูปเทวสตรีช่วงสุดท้ายในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ศิลปะเขมรแบบบายนได้เข้ามาศาสนสถานแห่งนี้จึงถูกดัดแปลงเป็นศาสนสถานในคติศาสนาพุทธมหายาน ดังที่พบหลักฐาน คือ ประติมากรรมพระรัตนตรัยมหายาน นอกจากนี้ด้านหน้าปราสาทประธานยังมีแนวอิฐก่อปิดทับและพบแนวหินของอาคารโถงยาวจากหน้าบันไดปราสาทไปจนถึงบันไดซุ้มประตูทางเข้า ถูกดัดแปลงให้เป็นอาคารโถง มีร่องรอยการก่ออิฐเตี้ย ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นอาคารขนาดเล็กที่ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปหรือแท่นสำหรับบูชาโดยมีหลังคาคลุม และวิหารด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีการดัดแปลงจากศิลาแลงเป็นการก่ออิฐเพิ่มเติม เพื่อใช้เป็นวิหารที่มีการดัดแปลงเพื่อใช้ประโยชน์ทางศาสนา โดยเปลี่ยนแปลงศิลปะเขมรแบบนครวัดมาเป็นศิลปะเขมรแบบบายน ดังนั้น การบูรณะจึงยังคงรูปแบบศิลปะเขมรไว้ทั้ง ๒ สมัย คือ แบบนครวัด และแบบบายนเพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาของคนรุ่นหลัง และความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่นในเรื่องของวิวัฒนาการของศิลปะ วัฒนธรรมที่ยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

ร่วมอนุรักษ์

" แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่น "

ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม จังหวัดนครราชสีมา (นครชัยบุรินทร์)
โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สนับสนุนงบประมาณการศึกษาค้นคว้าโดย

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม