ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา

Close

ข้อมูลของแหล่งศิลปกรรม

ภาพประกอบ

ลำดับที่
รายละเอียดภาพ : ด้านหน้าของถ้ำวัวแดง ตำบลเฉลียง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

ชื่อแหล่ง

ถ้ำวัวแดง

ประเภทแหล่งเรียนรู้

แหล่งศิลปกรรม


หมู่บ้าน เฉลียงโคก ตำบล เฉลียง อำเภอ ครบุรี จังหวัด นครราชสีมา
ไม่พบประวัติการศึกษา (รายงานการขุดค้น/ขุดแต่ง)

ปัจจุบัน ถ้ำวัวแดง ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาของเขาวัวแดงซึ่งอดีตเป็นเขาลูกเดียวกับเขาลูกช้างแต่ถูกแยกออกจากกันเพราะทำถนนตัดผ่าน ถ้ำวัวแดงสามารถเดินทางมาได้สองเส้นทาง ทางที่ ๑ สามารถขับรถเข้าวัดสุวรรณบรรพตแล้วเดินเท้าลงเขาจากวัดสุวรรณบรรพตซึ่งอยู่ด้านหลังของถ้ำวัวแดงมายังถ้ำวัวแดงได้ และทางที่ ๒ สามารถขับรถมาจอดบริเวณริมถนนด้านหน้าของถ้ำวัวแดงได้ บริเวณด้านหน้าถ้ำกรมศิลปากรได้นำลูกกรงเหล็กมาติดและล็อคกุญแจไว้ไม่ให้เข้าด้านในของถ้ำได้ และให้เจ้าอาวาสวัดสุวรรณบรรพตเป็นผู้เก็บรักษากุญแจไว้ ลักษณะถ้ำเป็นเพิงผาหินทรายแดงตื้น ๆ ปากถ้ำคล้ายกับหินก้อนใหญ่วางพาดไว้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐ เมตร ลึกจากปากถ้ำไปประมาณ ๓ เมตรมีรูปภาพจำหลักไว้ที่ผาหิน เป็นศิลปะลพบุรีสร้างขึ้นในวัฒนธรรมแบบเขมร เป็นรูปพระอิศวรทรงตรีศูร อุ้มนางปารพตี (อุมา) ประทับบนหลังโคอุสุภราช (โคนนทิ) มีเทพบริวาร ๒ องค์ ถือทวยพัดโบก ซึ่งจำหลักแบบลายหางนกยูง ฤๅษียืนประนมมือ ๓ ตน ประกอบท้ายขบวน เบื้องหน้าโคอุสุภราช สลักเป็นฤๅษีนั่ง ๑ ตน และเทวดา ๑ องค์ ส่วนท้ายขบวนมีเทพบริวารถูกสกัดเอาใบหน้าออกไป ส่วนลักษณะเครื่องแต่งกายของรูปบุคคลต่าง ๆ กำหนดอายุได้ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ตรงกับศิลปะขอมแบบเกาะแกร์ภายในถ้ำมีการตั้งโต๊ะวางรูปปั้นฤๅษีและรูปเคารพอื่น ๆ และบริเวณหน้าถ้ำก็มีการตั้งศาลที่มีรูปปั้นฤๅษีเช่นกัน
ถ้ำวัวแดงเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่ ตั้งอยู่บริเวณเขาวัวแดง ห่างจากบ้านเฉลียงโคก หมู่ ๔ ไปทางทิศใต้ประมาณ ๖๐๐ เมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ลักษณะถ้ำเป็นเพิงผาหินทรายแดงตื้น ๆ ปากถ้ำแลดูคล้ายกับหินก้อนใหญ่วางพาดไว้อยู่สูงจากพื้นดินประมาณ ๑๐ เมตร ลึกจากปากถ้ำไปประมาณ ๓ เมตรมีรูปภาพจำหลักไว้ที่ผาหิน เป็นรูปพระอิศวรทรงตรีศูร อุ้มนางปารพตี (อุมา) ประทับบนหลังโคอุสุภราช (โคนนทิ) มีเทพบริวาร ๒ องค์ ถือทวยพัดโบก ซึ่งจำหลักแบบลายหางนกยูง ฤๅษียืนประนมมือ ๓ ตน ประกอบท้ายขบวน เบื้องหน้าโคอุสุภราช สลักเป็นฤๅษีนั่ง ๑ ตน และเทวดา ๑ องค์ ถวายความเคารพ ภาพและเรื่องราวที่สลักในถ้ำนี้มีลักษณะเครื่องแต่งกายเป็นศิลปะในวัฒนธรรมขอม แบบเกาะแกร์ ซึ่งเคยมีชุมชนโบราณอยู่แถบนี้และบริเวณใกล้เคียงในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ – ๑๘ และได้รับการสร้างขึ้นมาตามความเชื่อในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ถ้ำวัวแดง ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาจากพระสงฆ์วัดสุวรรณบรรพต และจัดเป็นสถานที่สำคัญทางความเชื่อในเรื่องของโชคลางและการบนบานศาลกล่าวของชุมชนโดยมีงานบวงสรวงทุกวันที่๖มกราคม ของทุกปี และมีการบวงสรวงในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และมีการจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของอำเภอครบุรี

ร่วมอนุรักษ์

" แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่น "

ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม จังหวัดนครราชสีมา (นครชัยบุรินทร์)
โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สนับสนุนงบประมาณการศึกษาค้นคว้าโดย

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม