ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม นครราชสีมา

Close

ข้อมูลของแหล่งศิลปกรรม

ภาพประกอบ

ลำดับที่
รายละเอียดภาพ : ด้านทิศเหนือของปราสาทหินพนมวัน ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ชื่อแหล่ง

วัดพนมวัน

ประเภทแหล่งเรียนรู้

แหล่งศิลปกรรม


หมู่บ้าน มะค่า ตำบล บ้านโพธิ์ อำเภอ เมืองนครราชสีมา จังหวัด นครราชสีมา
โบราณสถานปราสาทพนมวัน ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตบ้านมะค่า ตำบลบ้านโพธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมาเป็นศาสนสถานในคติศาสนาพราหมณ์ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก องค์ประกอบปราสาทภายในระเบียงคดประกอบไปด้วย ปราสาทประธาน มีการขุดแต่งให้สมบูรณ์มณฑปมีการประกอบส่วนที่พังทลายให้มาไว้ในตำแหน่งเดิม รวมทั้งสามารถประกอบทับหลัง ในทางทิศตะวันออก ทิศตะวันตกและทิศใต้ ให้ลงตำแหน่งเดิมและมีการเสริมความมั่นคงให้ตัวอาคารด้วย นอกจากนี้ภายใต้ตัวอาคารยังพบการจารึกด้วยตัวอักษรเขมร ภาษาเขมรและภาษาสันสกฤต หลายหลักบริเวณกรอบประตู ภายในปราสาทประธานและมณฑปพบพระพุทธรูปสมัยอยุธยา จำนวน ๔ องค์ คือ พระพุทธรูปปางแสดงธรรมประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทประธานพระพุทธรูปปางแสดงธรรมประดิษฐานอยู่ทางทิศเหนือพระพุทธรูปประทับยืนและพระพุทธรูปปางประทานอภัยปรางค์น้อยมีการขุดแต่งให้สมบูรณ์ โดยภายในห้องมีแท่นยกสูงชิดพนังด้านตะวันตกใช้ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง ปราสาทอิฐพบซากปราสาทอิฐที่ยังมองเห็นอยู่จำนวน ๕หลังโดยสองหลังอยู่ทางทิศตะวันออกของเส้นแกนส่วนอีกสามหลังอยู่ทางทิศตะวันตกมีบางส่วนถูกฐานปราสาทสร้างทับ จึงมีให้เห็นเฉพาะฐาน บางหลังยังคงมีกรอบประตูทางเข้าหลงเหลืออยู่ชาลาดำเนินเชื่อมต่อระหว่างโคปุระและปราสาทประธาน ระเบียงคด มีการขุดแต่งระเบียงคด และมีโคปุระเชื่อมระเบียงคดประจำทิศทั้ง ๔ทิศ องค์ประกอบปราสาทภายนอกระเบียงคด ประกอบด้วย บารายทางทิศเหนือ ปัจจุบันตื้นเขิน มีต้นธูปฤาษีขึ้นทั่วบริเวณบาราย สระน้ำทิศตะวันออก มีป่ารกทึบ แต่ยังคงมีลักษณะของบ่อน้ำเดิมไว้ แนวถนนโบราณ ปัจจุบันไม่พบแนวถนนโบราณ โดยในปัจจุบันบริเวณนั้นถูกสร้างเป็นวัด และเป็นที่ตั้งของโบสถ์วัด ซากโบสถ์ร้าง ปัจจุบันพบเพียงฐานราก ที่มีการขุดแต่งไว้โดยกรมศิลปากรเนินอรพินท์หรือพลับพลาพบเพียงฐานของอาคาร ภายในมีดินเป็นเนินสูงขึ้น พบหลุมฝังเสาตรงกลางเนิน ปราสาทพนมวันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และมีความสำคัญในด้านการศึกษามาตั้งแต่สมัยอดีตแล้ว เนื่องจากมีนักวิชาการที่มีความสนใจทั้งที่เป็นชาวต่างชาติและชาวไทย ทำการศึกษาโบราณสถานแห่งนี้อย่างต่อนื่อง เมื่อทางกรมศิลปากรได้มีการขุดแต่งตัวปราสาทให้มีสภาพสมบูรณ์และสวยงาม ทำให้ปราสาทแห่งนี้ได้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นสถานที่ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่ผู้ที่มีความสนใจเข้ามาศึกษา ด้วยเหตุนี้เองทำให้ในปัจจุบันปราสาทพนมวันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา

พระอุโบสถกลางน้ำในปัจจุบัน ตัวของพระอุโบสถได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ ทั้งหมดโดยสร้างทับฐานเดิมของพระอุโบสถเก่า รูปแบบของอาคารยังมีการลอกเลียนแบบมาจากรูปแบบเดิมอยู่บ้าง โดยหลังคาจะเป็นแบบหน้าจั่วลดหลั่นสามชั้น ทางด้านทิศตะวันออกหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ฝาผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร มีประตูสามบาน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกทางเดินจากสะพาน หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ฝาผนังเป็นรูปเจ้าชายสิทธัตถะทรงออกผนวก มีประตูสองบาน บริเวณรอบๆพระอุโบสถมีใบเสมาที่ล้อมรอบจำนวนแปดใบ ฐานของระอุโบสถเริ่มทรุดเนื่องจากน้ำกัดเซาะ
ในปัจจุบันพระอุโบสถกลางน้ำได้ถูกสร้างขึ้นมาใหม่แทนของเดิมที่ผุพังแต่สร้างบนฐานเดิมดังนั้นตัวของอุโบสถในปัจจุบันจึงไม่ค่อยแข็งแรงเพราะพระอุโบสถนั้นถูกสร้างมานานมากแล้วบวกกับถูกน้ำกัดเซาะ ตัวหลังคาจะเป็นแบบหน้าจั่วลดหลั่นสามชั้นทางด้านทิศตะวันออกหน้าบันเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ฝาผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญเพียร มีประตูสามบาน ส่วนทางด้านทิศตะวันตกทางเดินจากสะพาน

ร่วมอนุรักษ์

" แหล่งศิลปกรรมท้องถิ่น "

ฐานข้อมูลแหล่งศิลปกรรม จังหวัดนครราชสีมา (นครชัยบุรินทร์)
โดย สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

สนับสนุนงบประมาณการศึกษาค้นคว้าโดย

หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา
สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม